เจาะลึก 8 รูปแบบการจัดสัมมนา แบบไหนเหมาะกับงานอะไร มีคำตอบ !

ผู้บรรยายบนเวทีกำลังบรรยายแนวคิดทางธุรกิจและการศึกในห้องประชุมสัมมนา

การจัดสัมมนาเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนองค์กรและสังคมให้ก้าวหน้า เพราะไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งยังเป็นการจัดอีเวนต์สำหรับสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงานได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การจัดสัมมนามีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ 8 รูปแบบการสัมมนายอดนิยม เพื่อให้คุณสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับความต้องการได้อย่างแม่นยำที่สุด

การจัดสัมมนาสำคัญอย่างไร ?

การจัดสัมมนาเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อองค์กรและบุคลกรในหลากหลายแง่มุม ดังนี้
ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ : เป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับข้อมูลและความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดและช่วยพัฒนาทักษะของบุคลากรในองค์กรได้
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่าย : เป็นเวทีสำหรับการระดมความคิด แลกเปลี่ยนมุมมอง ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่าย ทั้งยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและความร่วมมือ
สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ : การจัดสัมมนาสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมคิดวิเคราะห์ มองหาแนวทางใหม่ ๆ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจและปลุกไฟในการทำงาน รวมไปถึงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ : เป็นการแสดงถึงความเชี่ยวชาญและความเป็นผู้นำในธุรกิจ ทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร เพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้าและพันธมิตรให้มากขึ้น
ส่งเสริมการขายและการตลาด : เป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้าและบริการ กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และเพิ่มโอกาสในการขายและขยายฐานลูกค้า

8 รูปแบบการจัดสัมมนายอดนิยม เลือกจัดแบบไหนเหมาะสมที่สุด !

สำหรับคนที่สงสัยว่าการสัมมนามีกี่รูปแบบ เราขอมาแนะนำ 8 รูปแบบที่นิยมจัดกันบ่อย ๆ ดังนี้

1. การอภิปรายแบบคณะ (Panel Discussion)

รูปแบบนี้เหมาะสำหรับการนำเสนอมุมมองที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อเดียวกัน โดยมีลักษณะการจัดคือ มีผู้เชี่ยวชาญประมาณ 3-5 คนร่วมกันนำเสนอมุมมอง แนวคิด หรือประสบการณ์ ในประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ฟังได้มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และสามารถนำไปคิดวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ เพิ่มเติมได้

ตัวอย่างเช่น: การจัดสัมมนาในหัวข้อ “อนาคตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย” อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ธนาคาร และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มาแสดงมุมมองที่แตกต่างกัน

2. การสัมมนาในแบบซิมโพเซี่ยม (Symposium)

การสัมมนาในรูปแบบนี้ เหมาะสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม หรือโครงการต่าง ๆ ในหัวข้อหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการนำเสนอผลงานของตน หลังจากนั้นอาจมีการซักถาม อภิปราย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติม

ตัวอย่างเช่น : การจัดสัมมนาในหัวข้อ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” มีการนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดจากนักวิจัยหลายสถาบัน

3. การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop)

การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เป็นรูปแบบที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการฝึกฝนทักษะหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองทำ ฝึกปฏิบัติไปพร้อม ๆ กับการได้รับคำแนะนำจากวิทยากร ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และซึมซับทักษะได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น : การจัด Workshop สอนการเขียนโปรแกรมภาษา Python สำหรับผู้เริ่มต้น โดยมีการฝึกปฏิบัติควบคู่ไปกับการบรรยาย

4. การอภิปรายระดมความคิด (Brainstorming)

การสัมมนารูปแบบนี้จะเหมาะกับการหาแนวคิดใหม่ หรือการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยจะเน้นไปที่การระดมความคิดอย่างอิสระ เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวคิด ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ อย่างไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ คัดกรอง เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน เป็นรูปแบบที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้อย่างดี

ตัวอย่างเช่น : การจัดระดมความคิดเพื่อหาแนวทางพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่

5. การอภิปรายแบบถาม-ตอบ (Dialogue)

รูปแบบการสัมมนาที่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บรรยายและผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างใกล้ชิด ผู้บรรยายจะนำเสนอเนื้อหา แล้วกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมซักถามและแสดงความคิดเห็น ทำให้บรรยากาศการสัมมนามีชีวิตชีวาและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างเช่น : การจัดสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางการเมืองไทยในยุคหลังโควิด-19” โดยมีนักวิเคราะห์การเมืองมาบรรยาย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมซักถามและแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างกว้างขวาง

6. การอภิปรายแบบกลุ่ม (Group Discussion)

เป็นรูปแบบที่เหมาะกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ในประเด็นหัวข้อที่สนใจร่วมกัน โดยมีการแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ภายใต้การนำของผู้ดำเนินรายการหรือวิทยากร โดยแต่ละกลุ่มจะได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ก่อนที่จะนำเสนอสรุปผลการอภิปรายของกลุ่มตนเอง เป็นรูปแบบที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและได้รับมุมมองที่หลากหลาย

ตัวอย่างเช่น : การแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีการสอนแบบออนไลน์

7. การประชุมทางวิชาการ (Academic Meeting)

รูปแบบนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ และเสริมสร้างเครือข่ายทางวิชาการ โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการโปสเตอร์ การเสนอบทความวิชาการ หรือการบรรยายผลงาน พร้อมกับมีการซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัย

ตัวอย่างเช่น : การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติในหัวข้อ “การศึกษาในยุคดิจิทัล”

8. การประชุมแบบคอนเวนชัน (Convention)

รูปแบบการสัมมนานี้เหมาะสำหรับงานประชุมขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบรรยาย การอภิปราย เสวนา นิทรรศการ รวมไปถึงกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ร่วมงาน

ตัวอย่างเช่น : งาน “Thailand Mobile Expo” งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านมือถือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้เข้าร่วมกำลังฟังบรรยายสัมมนาหัวข้อเทคโนโลยีทางธุรกิจและการพยากรณ์เศรษฐกิจ

ได้รู้กันไปแล้วว่าการสัมมนามีกี่รูปแบบที่สามารถนำไปใช้ได้ แต่ทั้งนี้ควรเลือกรูปแบบการสัมมนาให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายด้วย เพื่อความสำเร็จของงาน แต่นอกจากการมีรูปแบบการจัดงานที่เหมาะสมแล้ว เรื่องของสถานที่จัดงานก็ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะจะช่วยเสริมบรรยากาศให้กับการสัมมนา และช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ ถ้าคุณอยากจัดงานสัมมนาให้ตรงใจ และกำลังมองหาโรงแรมจัดสัมมนาใกล้กรุงเทพฯ หรือห้องประชุมในนนทบุรี ให้ริเวอร์ไรน์เพลส โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ เป็นหนึ่งในตัวเลือก เรามีห้องประชุมที่ครบครันไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มี 6 ห้องให้เลือกสรร สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ รองรับการจัดสัมมนาทุกรูปแบบ ตอบโจทย์วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายแน่นอน

หากต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับห้องจัดงานสัมมนา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-966-6111 หรือ LINE Official https://lin.ee/JQ6USbn

ข้อมูลอ้างอิง

  1. สัมมนาคืออะไร? รวม 12 รูปแบบการประชุมสัมมนาที่ควรรู้. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567. จาก https://www.charnveeresortkhaoyai.com/th/blog/what-is-seminar/.
  2. What is a Seminar, its Types, & Purpose. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567. จาก https://utrconf.com/what-is-a-seminar-its-types-purpose/#google_vignette.
Conference

รายละเอียดอีเวนต์


ข้อมูลการติดต่อ